12 นโยบายการจัดการศึกษา 7 วาระเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศธ. ‘ตรีนุช เทียนทอง’ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ พร้อมสานต่อโครงการสำคัญอย่างเป็นรูปธรรม เสนอรูปแบบการทำงาน “TRUST” สร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับสังคม พร้อมแถลง 12 นโยบายการจัดการศึกษา 7 วาระเร่งด่วน (Quick Win) ของกระทรวงศึกษาธิการ
(29 มีนาคม 2564) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระพุทธรูปประจำกระทรวง พระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์สยามิศรจักรี สัฏฐีอนุสรณ์ ศึกษาทรรังสรรค์ศาลพระภูมิ และพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) จากนั้นพบปะและมอบนโยบายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ รมว.ศึกษาธิการ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนก่อนการประชุมว่า วันนี้ถือเป็นวันเริ่มต้นการทำงานวันแรก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นกระทรวงขนาดใหญ่ที่มีกรอบภาระงานมากมาย โดยโครงการดี ๆ ที่อดีต รมว.ศธ. ดำเนินการไว้ ซึ่งจะสานต่อ เช่น โรงเรียนคุณภาพชุมชน ซึ่งเป็นงานสำคัญที่จะต้องเร่งสานต่อให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่สังคมจับตามองอยู่ อาทิ เรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งโรงเรียนถือเป็นบ้านหลังที่สองของเยาวชน จึงมีความคาดหวังของผู้ปกครองและสังคมอย่างมาก โดยต้องหาแนวทางในการทำอบ่างไรให้มีมาตรการที่ถูกต้อง หากระบวนการป้องกันการเกิดเหตุร้ายจากกรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อช่วยดูแลให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง ความรู้เรื่องดิจิทัลและทักษะที่จําเป็นในศตวรรษที่ 21 การขับเคลื่อนภาพลักษณ์ที่ดีของการอาชีวศึกษา เป็นต้น จากนั้นได้พบผู้บริหารทุกหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ห้องประชุมราชวัลลภ เพื่อรับฟังข้อมูลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. นำเสนอ จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ มอบนโยบายการจัดการศึกษา
คำแถลงนโยบายการจัดการศึกษา ของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เข้ามารับหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ ดังที่ดิฉันและทุกท่านทราบดีว่า ภารกิจด้านการศึกษานั้นเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับประเทศชาติ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 ซึ่งเป็นวันก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการของเรา ที่แต่เดิมมีชื่อว่า “กระทรวงธรรมการ” นับจนถึงวันนี้ จะครบรอบ 129 ปีแห่งการสถาปนา ในวันที่ 1 เมษายน 2564 องค์กรของเรามีทั้งเรื่องราวและผู้คนมากมายผ่านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน มีวิกฤตและโอกาสเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน
อีกทั้งในปัจจุบันนี้ สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังที่มีคำกล่าวว่าเป็น “โลกไร้พรมแดน” จึงนับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาอย่างยิ่ง ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่บนความคาดหวังของสังคม ดิฉันมีความคิดเห็นว่า พวกเราจะต้องสร้าง “ความเชื่อมั่น ไว้วางใจ” หรือ “TRUST” ให้กับสังคม โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง เด็กและผู้ปกครอง ว่าเราสามารถที่จะเป็นหลัก หรือที่พึ่งให้กับพวกเขาได้
“TRUST” หมายถึง “ความไว้วางใจ” เป็นรูปแบบการทำงานที่จะทำให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ผู้เรียน และประชาชน กลับมาให้ความไว้วางใจในการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง
T ย่อมาจาก Transparency (ความโปร่งใส)
R ย่อมาจาก Responsibility (ความรับผิดชอบ)
U ย่อมาจาก Unity (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว)
S ย่อมาจาก Student-Centricity (ผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา)
T ย่อมาจาก Technology (เทคโนโลยี)
รูปแบบการทำงาน “TRUST” คือการพัฒนาต่อยอดจากรูปแบบการทำงาน “MOE ONE TEAM” หรือ “การทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวของกระทรวงศึกษาธิการ” ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการมาโดยตลอด ซึ่ง “TRUST” จะเข้ามาเป็นส่วนเสริมในเรื่องความโปร่งใส ทั้งในเชิงกระบวนการทำงานและกระบวนการตรวจสอบจากภาคส่วนต่าง ๆ การสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนดำเนินการตามภารกิจของตน ด้วยความรับผิดชอบต่อตัวเอง องค์กร ประชาชน และประเทศชาติ ให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (Participation) ผ่านกลไกการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการเป็นพื้นที่ของทุกคน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ระหว่างครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ผู้เรียน และประชาชน ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การมีผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา โดยการทำให้ผู้เรียนมีวิธีคิดและทักษะที่เป็นสากลสอดคล้องกับพลวัตในศตวรรษที่ 21 ควบคู่ไปกับสำนึกและความเข้าใจในความเป็นไทย ผ่านการมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี ทั้งในเชิงโครงสร้าง (Infrastructure) คือ การเข้าถึงสิ่งจำเป็นและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษาอย่างทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการศึกษา และในเชิงการเรียนรู้ (Learning) คือแหล่งข้อมูล แหล่งเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ที่ทันสมัย และจะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนถึงพร้อมซึ่งคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทุกประการ เพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ประเด็นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ การพัฒนาเด็กตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์จนถึงปฐมวัย การพัฒนาช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น การพัฒนาและยกระดับศักยภาพวัยแรงงาน รวมถึงการส่งเสริมศักยภาพวัยผู้สูงอายุ ประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง
12 นโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
ดิฉันจึงขออนุญาตนำเสนอนโยบายการจัดการศึกษาทั้ง 12 ข้อ ดังนี้
- การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย
- การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล เพื่อให้ครูและอาจารย์ใด้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะทั้งด้านการจัดการเรียนรู้ ด้วยภาษาและดิจิทัล สามารถปรับวิธีการเรียนการสอนและการใช้สื่อทันสมัย และมีความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เกิดกับผู้เรียน
- การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลฝานแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (NDLP) และการส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ ที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ทันสมัยและเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางผ่านระบบออนไลน์ และการนำฐานข้อมูลกลางทางการศึกษามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา
- การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา โดยการส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายการศึกษาแห่งชาติที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อกำหนดให้มีระบบบริหารและการจัดการ รวมถึงการจัดโครงสร้างหน่วยงานให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ สถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน มีระบบการบริหารงานบุคคลโดยยึดหลักธรรมาภิบาล
- การปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพ พร้อมจัดทดสอบวัดความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ เพื่อให้ระบบการประเมินผลการศึกษาทุกระดับและระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย ตอบสนองผลลัพธ์ทางการศึกษาได้อย่างเหมาะสม
- การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการระดมทรัพยากรทางการศึกษาจากความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษามีความเป็นธรรมและสร้างโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกลุ่มอื่น ๆ กระจายทรัพยากรทั้งบุคลากรทางการศึกษา งบประมาณและสื่อเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง
- การนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สู่การปฏิบัติ เป็นการผลิตและการพัฒนากำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เชื่อมโยงระบบการศึกษาและการอาชีพ โดยใช้กลไกการเทียบโอนประสบการณ์ด้วยธนาคารหน่วยกิตและการจัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาที่สามารถอ้างอิงอาเซียนได้
- การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจวินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย เพื่อเป็นการขับเคลื่อนแผนบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 สู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย และมีการติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะ
- การศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาและอาชีวศึกษามีอาชีพและรายได้ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้
- การพลิกโฉมระบบการศึกษาไทยด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา เพื่อให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาผ่านระบบดิจิทัล
- การเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
- การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดความนิยมในรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ (Online) มากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเตรียมผู้เรียนไทยให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมุ่งเน้นความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ (Resilience) รวมถึงปัญหาความปลอดภัยของสถานศึกษาและปัญหาความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการศึกษาที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
7 วาระเร่งด่วน (Quick Win) ของกระทรวงศึกษาธิการ
ดิฉันจึงเสนอให้มีวาระเร่งด่วน (Quick Win) ของกระทรวงศึกษาธิการ ดังต่อไปนี้
- วาระที่ 1 เรื่องความปลอดภัยของผู้เรียน โดยจัดให้มีรูปแบบ วิธีการ หรือกระบวนการในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข และได้รับการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีความสามารถในการดูแลตนเองจากภัยอันตรายต่าง ๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคม
- วาระที่ 2 หลักสูตรฐานสมรรถนะ มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ
- วาระที่ 3 Big Data พัฒนาการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและไม่ซ้ำซ้อน เพื่อให้ได้ข้อมูลภาพรวมการศึกษาของประเทศที่มีความครบถ้วน สมบูรณ์ ถูกต้องเป็นปัจจุบัน และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
- วาระที่ 4 ขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) ตามความเลิศของแต่ละสถานศึกษาและตามบริบทของพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของประปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนมีการจัดการเรียนการสอนด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย สอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบัน
- วาระที่ 5 พัฒนาทักษะทางอาชีพ ส่งเสริมการจัดการศึกษาที่เน้นพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
- วาระที่ 6 การศึกษาตลอดชีวิต การจัดเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ประซาชนในแต่ละช่วงวัยได้รับการศึกษาตามความต้องการอย่างมีมาตรฐาน เหมาะสมและเต็มตามศักยภาพตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา และพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
- วาระที่ 7 การจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ส่งเสริมการจัดการศึกษาให้ผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพสามารถดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีเกียรติ ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้อื่นในสังคม สามารถช่วยเหลือตนเองและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
ขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน ผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าส่วนราชการ พี่น้องข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ที่ให้ความกรุณาสละเวลาอันมีค่า มาให้การต้อนรับดิฉันและเข้าร่วมรับฟังการมอบนโยบายและยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงาน ดิฉันตระหนักดีว่าภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการนี้มีอยู่มากมาย ทั้งที่ยังรอการดำเนินงานและที่จะริเริ่มโครงการขึ้นใหม่ จำต้องอาศัยความมุมานะ พยายามอย่างยิ่งยวด ที่จะให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และนั่นคือสิ่งที่ยากที่สุด
เพราะผลสัมฤทธิ์ของภารกิจด้านการศึกษานั้นไม่อาจระบุได้ว่า เท่าไร เมื่อไร จึงจะถือว่าประสบความสำเร็จดุจดังเรื่องราวของ “พระมหาชนก” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็นแบบอย่างแห่งพระโพธิสัตว์ผู้ถึงพร้อมด้วยวิริยะบารมี ทรงแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรท่ามกลางวาตภัยแลสัตว์ร้ายที่พร้อมจะแผ้วพาน กระนั้นก็ทรงแน่วในพระราชปณิธานที่จะว่ายต่อไปให้ “ถึงฝั่ง” เพื่อยังประโยชน์แก่อาณาราษฎร โดยการขึ้นครองสิริราชสมบัติปกครองมิถิลานครสืบไป ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากล ตลอดจนพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี แลพระบรมราจักรีวงศ์ทุกพระองค์ จงดลบันดาลประทานพรให้ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ประสบแต่ความสุข ความเจริญ เข้าถึงความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลมกำลังกายที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจด้วยความไว้วางใจ เพื่อร่วมไปให้ “ถึงฝั่ง” ด้วยกัน